โครงการวิจัยย่อยที่ 1

การพัฒนากรรมวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพแผ่นชิ้นแฝกอัดให้ทนปลวก
Quality Development on Particleboard Manufacturing from Vetiver Grass as Termite Tolerance

 

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง (literature survey)

ชนิดพันธุ์หญ้าแฝกที่พบในประเทศไทย มีเพียง 2 ชนิด คือ แฝกลุ่ม (Vetiveria zizaniodes Nash) ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่ม และอีกชนิดคือ แฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus) ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ดอน หญ้าแฝกทั้งสองชนิดดังกล่าว กรมพัฒนาที่ดิน ได้จำแนกออกเป็น 28 สายพันธุ์ โดยแยกเป็นแฝกลุ่ม จำนวน 11 สายพันธุ์ และแฝกดอน จำนวน 17 สายพันธุ์ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2541) แต่สำหรับพันธุ์ที่ได้มีการทดลอง และคัดเลือกแล้ว ว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสม สำหรับส่งเสริมให้ราษฎรปลูก เนื่องจากมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี มีความทนทานต่อโรค แมลง ให้ผลผลิตสูง สามารถอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดี และมีความเหมาะสมกับลักษณะสภาพพื้นที่ของเกษตรกร มีเพียง 12 สายพันธุ์ คือ กลุ่มพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกในที่ลุ่ม จำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่พันธุ์มอนโต้ , พันธุ์กำแพงเพชร 2 , พันธุ์สุราษฏร์ธานี , พันธุ์ศรีลังกา , พันธุ์สงขลา 3 , และพันธุ์พระราชทาน สำหรับกลุ่มพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกในที่พื้นที่ดอน มีจำนวน 6 สายพันธุ์ เช่นกัน คือ สายพันธุ์ร้อยเอ็ด , สายพันธุ์นครสวรรค์ , สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 , สายพันธุ์ราชบุรี , สายพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ และสายพันธุ์เลย

การพัฒนาหญ้าแฝกเป็นแผ่นประกอบ ชนิดแผ่นชิ้นแฝกอัด โดยใช้หญ้าแฝกดอน สายพันธุ์ราชบุรี ได้มีการศึกษา โดย วรธรรม และคณะ (2543) พบว่าแผ่นประกอบจากชิ้นหญ้าแฝกดอนสามารถนำมาผลิตทำเป็นเครื่องเรือน และเครื่องไม้ใช้สอยต่าง ๆ ในครัวเรือน เพื่อทดแทนไม้จริงได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับมาตรฐานอุตสาหกรรมแผ่นชิ้นแฝกอัดของ JIS A 5908 (1994) พบว่าแผ่นประกอบจากใบหญ้าแฝกดอน สายพันธุ์ราชบุรี ดังกล่าว มีคุณภาพของแผ่นอยู่ในเกณฑ์สูงสุดของมาตรฐานกำหนด (18 type) ยกเว้นการพองตัวทางความหนาหลังแช่น้ำ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงพัฒนาต่อไป และได้มีการนำแผ่นชิ้นแฝกอัดดังกล่าว ไปทำการทดลองความทนทานกับปลวก โดยนักวิจัยของกรมป่าไม้ ซึ่งกำลังดำเนินการทดลองอยู่ สำหรับการศึกษาการผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัดจากสายพันธุ์อื่น ๆ ยังไม่มีการศึกษาแต่อย่างได
ในการผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัดเพื่อทนปลวกจึงมีความจำเป็นต้องทำการผลิตแผ่นจากหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ได้คัดเลือกสายพันธุ์หญ้าแฝกที่ให้ผลผลิตสูงสุดจำนวน 3 สายพันธุ์ มาทำการทดลอง คือ แฝกลุ่ม จำนวน 1 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์มอนโต้ และ แฝกดอน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี และพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ กรรมวิธีที่ใช้ในการผลิตคือ การผลิตแบบความแน่นสูงและผลิตโดยใช้ชนิดกาวที่ต่างกัน 2 ชนิด ในระดับความเข้มข้นต่าง ๆ กัน ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3 ระดับ โดยกำหนดให้ใช้กาวไอโซไซยาเนต ชนิด polymeric diphenylmethane diisocyanate (pMDI) ซึ่งเป็นกาวใช้ภายในที่มีราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับกาวชนิดอื่น ๆ มาผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดชนิด ปาร์ติเกิลบอร์ด และ ไม้อัดเรียงเสี้ยน (oriented strand board, OSB) ส่วนกาวอีกชนิดคือกาวฟีนอลฟอร์มาดีไฮด์ ซึ่งเป็นกาวใช้ภายนอกที่มีราคาถูกกว่าชนิดแรก จะนำมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดชนิดไม้อัดเรียงเสี้ยน (oriented strand board, OSB) โดยกำหนดให้ใช้สารเติมแต่ง 3 ชนิดคือ สารทิมบอร์ (timbor) ซึ่งเป็นสารป้องกันเชื้อรา รากของแฝกลุ่ม ซึ่งในส่วนรากมีน้ำมันหอมระเหยอยู่และสามารถสกัดสารจากน้ำมันรากหญ้าแฝก ที่เรียกว่าสาร nootkatone ซึ่งมีคุณสมบัติในการขับไล่ปลวกได้ และผง หรือขี้เลื่อยไม้สักที่สามารถกันปลวกได้ ดังนั้นกรรมวิธีในการผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัด จึงใช้กรรมวิธีในการผลิต 3 วิธีคือกรรมวิธีการผลิตแบบความแน่นสูง กรรมวีธีการผลิตโดยใช้กาวไอโซไซยาเนต ชนิด polymeric diphenylmethane diisocyanate (pMDI) และผลิตโดยใช้กาวฟีนอลฟอร์มาดีไฮด์ ที่ระดับความเข้มข้นต่างกัน 3 ระดับ โดยกำหนดสารเติมแต่ง 3 ชนิดคือ สารทิมบอร์ (timbor) รากของแฝกลุ่ม และ ผงหรือขี้เลื่อยจากไม้สัก ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการป้องกันรักษาเนื้อไม้ ป้องกันโรครา แมลง หรือปลวกเข้าทำลาย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความจำเป็นจะต้องทำการศึกษา เพื่อที่จะสามารถหาสายพันธุ์หญ้าแฝกที่เหมาะสมที่สุด ที่จะนำมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบกับปลวกต่อไป


วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อศึกษาสายพันธุ์หญ้าแฝกที่มีความเหมาะสม ที่จะนำมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดที่ ทนปลวก
  2. เพื่อหากรรมวิธีการผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัดที่เหมาะสม
  3. เพื่อต้องการทราบสารเติมแต่งที่เหมาะสม ที่เพิ่มในผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถทนปลวกได้ดี


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ทำให้ทราบสายพันธุ์หญ้าแฝก กรรมวิธีการผลิต และสารเติมแต่งที่มีความเหมาะสม ที่จะนำมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดที่ทนปลวก
  2. สามารถนำข้อมูลจากการศึกษาไปส่งเสริม เผยแพร่ เพื่อให้มีการผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัด จากหญ้าแฝก หรือวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ได้ ในระดับชุมชนที่มีศักยภาพ
  3. การนำหญ้าแฝก หรือวัสดุการเกษตรอื่น ๆ มาผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัด จะช่วยลดปริมาณ
    การใช้ไม้จริงได้ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรเหล่านี้ด้วย

ขอบเขตการวิจัย

  1. ทำการสำรวจ ศึกษาข้อมูลถึงแหล่งปลูก และปริมาณหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดชนิดปาร์ติเกิล (particleboard) และผลิตเป็นแผ่นชิ้นแฝกอัดชนิดไม้อัดเรียงเสี้ยน (oriented strand board, OSB)
  2. วิจัย และพัฒนา ในการผลิตแผ่นชิ้นแฝกอัดจากแฝกโดยวางแผนการทดลองศึกษาสภาวะดังต่อไปนี้
    1. ชนิดของสายพันธุ์หญ้าแฝก 3 สายพันธุ์
    2. กรรมวิธีในการผลิตต่าง ๆ กัน 3 วิธี
    3. ใช้สารเติมแต่งเพิ่มในผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด
  3. นำแผ่นชิ้นแฝกอัดหญ้าแฝกไปทำการทดสอบกับปลวก
  4. ออกแบบและทำผลิตภัณฑ์สำเร็จต่าง ๆ จากแผ่นชิ้นแฝกอัดที่พัฒนาได้
  5. เผยแพร่ผลการวิจัย และนำไปถ่ายทอดเป็นเทคโนโลยีในระดับชุมชนที่มีศักยภาพ

 

งานอุตสาหกรรมวัสดุทดแทนไม้และกาวติดไม้ กลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้
สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ โทร 0-2561-4292-3 ต่อ 5471
โทรสาร 0-2940-6285 e-mail :
[email protected]

ผลการวิจัยระยะที่ 1