งานวิจัยเพื่อการปลูกไม้ป่า
งานวิจัยเพื่อการปลูกไม้ป่าส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ ซึ่งมีหน้าที่ ในการศึกษา วิจัยด้านวนวัฒนวิทยาในแขนงวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไม้ป่า ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและด้านการอนุรักษ์
ความสำคัญของงานวิจัยเพื่อการปลูกไม้ป่า
การปลูกสร้างสวนป่า ทั้งสวนป่าเศรษฐกิจ และสวนป่าเพื่อการอนุรักษ์ เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งต้องใช้เงินทุน หรืองบประมาณจำนวนมาก การปลูกสร้างสวนป่าในเชิงพานิชย์ อาจเป็นการปลูกไม้โตเร็ว ที่มีรอบการตัดฟัน( rotation ) ประมาณ 5 ปี ซึ่งมักมีการปลูกพันธุ์ไม้ชนิดเดียว หรือการปลูกไม้เศรษฐกิจซึ่งมีรอบตัดฟันยาวถึง 20 - 30 ปี
ซึ่งอาจปลูกพันธุ์ไม้ชนิดเดียว หรือหลายชนิด เนื่องจากการปลูกสร้างสวนป่าในเชิงพานิชย์มักเป็นการดำเนินการโดยภาคเอกชน ดังนั้นผู้ประกอบการย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับคืนเป็นหลัก นั่นคืือให้ได้มาซึ่งผลผลิตสูงสุด และผลผลิตที่ได้มีความคุ้มทุนหรือไม่เพียงใด ระยะเวลาที่ต้องใช้เท่าใดจึงจะคุ้มทุน และสมควรลงทุนหรือไม่ ซึ่งการตตัดสินใจของผู้ประกอบการ ต้องพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของชนิดพันธุ์ไม้ตามวัตถุประสงค์การลงทุน สายพันธุ์ทีใช้ในการปลูก อัตราการเจริญเติบโตของกล้าไม้ อัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ในแต่ระยะปลูก ในแต่ละสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ การจัดการทางวนวัฒนวิทยา ผลผลิตก่อนถึงรอบตัดฟัน และผลผลิตเมื่อถึงรอบตัดพัน วิธีการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ผลกระทบต่อปัจจัยแวดล้อม ราคาผลผลิตในปัจจุบันและอนาคต อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ
การปลุกป่าในเชิงอนุรักษ์ จะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากการปลูกป่าเชิงพานิชย์ เนื่องจากการปลุกป่าในเชิงอนุรักษ์ เป็นการลงทุนที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนโดยตรง แต่จะคำนึงถึงผลต่อสิ่งแวดล้อม และผลผลิตรอง ลักษณะการปลูกสร้างสวนป่า จะปลูกผสมหลายชนิดเลียนแบบธรรมชาติ การวางแผนการปลูก จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งทางด้านลักษณะโครงสร้างป่าแต่ละชนิดในสภาพแวดล้อม องค์ประกอบพืชพันธุ์ คุณลักษณะของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด อตราการเจริญเติบโตในแต่ละสภาพแวดล้อม การพัฒนาเรือนยอด ลักษณะทางปฐพีและธรณี ภูมิอากาศ การมีข้อมูลที่ละเอียดถูกต้อง จะช่วยให้สามารถวางแผนได้ว่า ในพื้นที่ที่จะดำเนินการควรปลูกพันธุ์ไม้อะไรบ้าง ปลูกพันธุ์ไม้ชนิดใดก่อนหลัง ระยะห่างเท่าใด โครงสร้างป่าจะเป็นรูปแบบใด
จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าในเชิงพานิชหรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้อมูลจากงานวิจัย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ในการวางแผนและการจัดการ ข้อมูลที่ถูกต้องและมีคุณภาพ จะทำให้การพิจารณา วางแผนดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมสามารถประเมินค่าใช้จ่ายได้ ผลผลิตในแต่ละรอบตัดฟัน และผลผลิตก่อนถึงรอบตัดฟัน หรือรูปลักษณ์ของสวนป่า ในระยะเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งการมีโอกาศที่จะประสบความสำเร็จสูงในการดำเนินงาน และลดอัตราเสี่ยงต่อความล้มเหลวไปได้มาก
การพัฒนางานวิจัยเพื่อการปลูกไม้ป่า
การวิจัยเพื่อการปลูกสร้างสวนป่าได้เริ่มขึ้นเมื่อได้มีการจัดตั้งกองบำรุงขึ้นในสมัยที่พระยาพนานุจรเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ โดยโอนกิจการกองกานไม้มาตั้งเป็นกองบำรุง แต่การจัดตั้งกองบำรุงในครั้งนี้มิได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงาน และกรมในกระทรวงเกษตราธิการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๘๑ ได้กำหนดให้กองบำรุงมีชื่อใหม่ว่า "กองบำรุงรักษาป่า" ต่อมารัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงาน และกรมในกระทรวงเกษตราธิการ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๔๘๒ได้เปลี่ยนชื่อกองบำรุงรักษาป่าเป็น "กองบำรุงป่า" โดยมีการแบ่งส่วนการ ดำเนินงานออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกโครงการ แผนกบำรุง และแผนกทดลอง ซึ่งแผนกทดลองมีหน้าที่ทำการศึกษาทดลองและค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับวิชาการป่าไม้ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ในสมัยที่ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มี พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมป่าไม้ ในกระทรวงเกษตราธิการอีกครั้ง และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "กองบำรุง"ประกอบด้วย 3 แผนก คือ แผนกบำรุง แผนกสถานีวนกรรม และแผนกวนวิจัย ซึ่งแผนกวนวิจัยนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาจากแผนกทดลอง แต่ยังมีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดิม ต่อมามีการรวมแผนกสถานีวนกรรม และแผนกวนวิจัย และเมื่อมีการแบ่งส่วนราชการเป็นระบบ พี.ซี. ในปี 2518 ได้โอนงานสถานีวนกรรมไปขึ้นกับป่าไม้เขตต่าง ๆ และได้ยกฐานะมาเป็นฝ่ายวนวัฒนวิจัยในปี 2525
ต่อมาเมื่อกรมป่าไม้ได้ประกาศใช้แผนอัตรากำลัง 3 ปี ฝ่ายวนวัฒนวิจัยได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มวนวัฒวิจัย สังกัดกองบำรุง และในขณะเดียวกัน ได้มีการแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๙ ตอน ๑๐๙ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๕ กลุ่มวนวัฒนวิจัยก็ได้ยกระดับเป็น " ส่วน" มีฐานะเทียบเท่ากอง สังกัดสำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ มีชื่อว่า "ส่วนวนวัฒนวิจัย"
การบริหารงานของกลุ่มงานวนวัฒนวิจัย มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาปรับปรุงเทคนิค วิธีการ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่า ซึ่งมีหน่วยงานตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันกลุ่มงานวนวัฒนวิจัย เป็นส่วนหนึ่งในสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้
งานวิจัยการปลูกสร้างสวนป่า
เป็นส่วนย่อยหนึ่งของกลุ่มงานวนวัฒนวิจัย ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย เผยแพร่ผลงานวิจัยและบริการแก่ประชาชนผู้ที่สนใจในเรื่อง การเพาะและผลิตกล้าไม้ วิจัยด้านการปลูกบำรุงสวนป่า การจัดการสวนป่า วิจัยด้านการเจริญเติบโตและประเมินผลผลิตของสวนป่า วิจัยด้านการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยระบบวนเกษตร