โครงการวิจัยย่อยที่ 5

การศึกษาและทดสอบความทนทานของแผ่นประกอบหญ้าแฝกต่อการเข้าทำลายของปลวกใต้ดิน

 

ความสำคัญ และที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

สืบเนื่องมาจากการที่ส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตผลป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ ร่วมกับภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ ได้มีโครงการศึกษาและวิจัยในการนำเอาวัสดุเหลือทิ้งของหญ้าแฝกทั้งส่วนลำต้นและใบ ไปพัฒนาใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนการใช้ไม้จากป่า ในรูปแบบต่างๆ กัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าไม้หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบนั้น มักจะถูกปลวกเข้าทำลาย และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่เสมอๆ (Harris, 1964; Hickin, 1971) ดังนั้นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาจากแฝกซึ่งมีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบสำคัญนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและทดสอบในด้านความทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวกเสียก่อนเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นในด้านความทนทานต่อศัตรูทำลายไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลวกใต้ดิน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา นำไปสู่การพัฒนาหรือปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์จากแฝกให้มีคุณภาพดีแข็งแรงและทนทานต่อปลวกมากยิ่งขึ้น

ในประเทศไทยพบว่ามีปลวกอยู่สิบกว่าชนิดที่พบเข้าทำความเสียหายให้แก่ไม้ใช้ประโยชน์ในอาคารบ้านเรือนทั้งในเขตเมือง และชนบท โดยกว่าร้อยละ 90 ของความเสียหายในอาคารที่อยู่ในเขตเมือง เกิดจากการเข้าทำลายของปลวกใต้ดิน Coptotermes gestroi ส่วนปลวก Microcerotermes crassus จะพบเข้าทำความเสียหายมากเฉพาะที่อยู่ในชนบท (Sornnuwat, 1996)


วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับความทนทานของผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบจากแฝกที่พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ต่อการเข้าทำลายของปลวกใต้ดิน ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ทราบข้อมูลที่บ่งชี้ถึงระดับด้านความทนทานของผลิตภัณฑ์แฝกแต่ละชนิดต่อการเข้าทำลายของปลวกทำลายไม้ เพื่อใช้เป็นแนวทางนำไปสู่การพิจารณาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น
  2. ผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวกนี้จะสามารถนำไปส่งเสริมและเผยแพร่ให้ผู้บริโภคหันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากแฝกมากยิ่งขึ้น


ระเบียบวิธีวิจัย

  1. สำรวจและเก็บตัวอย่างปลวกทำลายไม้ ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในเขตเมืองและในชนบท
  2. เพาะเลี้ยงปลวกชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงที่สุดคือ Coptorermes gestroi ภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ในการทดสอบต่อไป
  3. ศึกษาและทดสอบความทนทานของแผ่นชิ้นไม้ประกอบแฝก ที่พัฒนาขึ้นในรูปแบบต่างๆ กัน ภายในห้องปฏิบัติการกับปลวกใต้ดิน Coptotermes gestroi โดยวิธีการบังคับ (No choice test) เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยวางแผนการทดสอบแบบสุ่มตลอด (Complete randomized design)
  4. สำรวจและเตรียมพื้นที่ทำแปลงทดสอบความทนทานของชิ้นไม้ประกอบแฝกในภาคสนาม
  5. ศึกษาและทดสอบความทนทานของแผ่นชิ้นไม้ประกอบแฝกต่างๆ ในสภาพไม่สัมผัสดินต่อการเข้าทำลายของปลวกนานาชนิด โดยวิธีเลือกอิสระ (choice test) ในภาคสนาม โดยวางแผนการทดสอบแบบสุ่มตลอด (Complete randomized design) และตรวจเช็คผลการศึกษาเมื่อครบระยะ 6 เดือน และทุกระยะ 1 ปี ในช่วงต่อๆ มา
  6. วิเคราะห์และประเมินผลเปรียบเทียบระดับความทนทานของชิ้นไม้ประกอบแฝกจากการเข้าทำลายาของปลวกโดยวิธี Duncan's new multiple range test
  7. สรุปและรายงานผล


ขอบเขตของการวิจัย


ศึกษาและทดสอบระดับความทนทานของผลิตภัณฑ์แฝกชนิดต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติการต่อการเข้าทำลายของปลวกใต้ดิน Coptotermes gestroi ซึ่งเป็นปลวกชนิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยเฉพาะในเขตเมืองและในภาคสนามต่อการเข้าทำลายของปลวกนานาชนิด ที่มักพบเข้าทำลายไม้ใช้ประโยชน์ในเขตชนบท เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาวางแผนในเชิงการพัฒนาด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทดสอบชนิดต่างๆ เพื่อให้มีความคงทนต่อปลวกและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

 

งานอุตสาหกรรมวัสดุทดแทนไม้และกาวติดไม้ กลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้
สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ โทร 0-2561-4292-3 ต่อ 5471

โทรสาร 0-2940-6285 e-mail :
[email protected]