หลักเกณฑ์การแบ่งไม้เนื้ออ่อนไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้
ไม้การค้าแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ ไม้เนื้ออ่อน (Softwoods) และไม้เนื้อแข็ง
(Hardwoods) โดยอาศัยวิชาการทางพฤกษศาสตร์เป็นรากฐานในการแบ่งออกเป็นสองชนิดดังกล่าวคือ
ไม้เนื้ออ่อน
เป็นไม้ที่ได้จากต้นไม้พวกสน Coniferae ที่มีลักษณะใบเรียวเล็ก (Needle
leaves) ผลมีรูปลักษณะเป็นรูปทรงกรวย (Cone) ต้นไม้พวกนี้ส่วนมากขึ้นอยู่ในที่สูงมีอากาศเย็นในประเทศที่มีอากาศหนาว
(Temperate regions) ลักษณะโครงสร้างของไม้เนื้ออ่อนเป็นแบบธรรมดาซึ่งแตกต่างจากไม้เนื้อแข็งอย่างชัดเจน
และมีความเหมาะสมในการใช้งานก่อสร้างได้ ถึงว่าจะมีเนื้อไม้ของไม้สนหลายชนิดค่อนข้างอ่อนแต่ก็ง่ายต่อการไสตบแต่ง
มีน้ำหนักเบาและแข็งพอที่จะใช้สำหรับงานก่อสร้างโดยทั่วไปได้เช่นกัน
ไม้เนื้อแข็ง
เป็นไม้ที่ได้มาจากต้นไม้ที่มีใบกว้าง (broad leaved trees) ซึ่งเป็นไม้จำนวนมากที่มีอยู่ในป่าไม้ของประเทศไทย
ไม้ที่เป็นของไทยส่วนมากหรือทั้งหมดที่เป็นการค้าเป็นไม้เนื้อแข็งมีจำนวนหลายสิบชนิด
ลักษณะโครงสร้างของไม้เนื้อแข็งมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าไม้เนื้ออ่อน
และมีลักษณะแตกต่างระหว่างไม้เนื้อแข็งด้วยกันเองมาก คุณสมบัติของไม้เนื้อแข็งมีความแตกต่างระหว่างพวกไม้เนื้อแข็งด้วยกันทั้งในด้านความแข็งแรงของการรับน้ำและความแข็งของเนื้อไม้อย่างกว้างขวาง
ข้อแตกต่างของไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็งทางวิชาการที่กล่าวมาแล้ว
เป็นความหมายที่ใช้กันทุกประเทศในโลก ดังนั้นความจริงที่ปรากฏว่าไม้เนื้ออ่อนบางชนิด
(Softwoods) แข็งกว่าไม้เนื้อแข็งบางชนิด (Hardwoods) จึงไม่เป็นสาเหตุทำให้ความหมายของไม้เนื้ออ่อน
และไม้เนื้อแข็งตามความหมายทางวิชาการซึ่งถือเอาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และลักษณะโครงสร้างของไม้เป็นเรื่องเกินเลยความจริงหรือผิดพลาดแต่ประการใด
ไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็งที่เป็นปัญหา
ไม้เนื้ออ่อน (Softwood) ที่ว่ากันตามหลักวิชาการทางลักษณะโครงสร้างไม้ก็คือไม้ที่เนื้อไม้ไม่มีรู
(non-porous wood) พูดให้ง่าย ถ้าเอามีดคมๆ เฉือนที่หน้าตัดไม้ให้เรียบ แล้วใช้แว่นขยาย
(hand lens) ส่องดู จะเห็นว่าไม่มีรู ไม้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อนตามหลักวิชาการดังกล่าว
ได้แก่ พวกไม้สน (conifers) ส่วนไม้เนื้อแข็งเป็นไม้ที่มีลักษณะโครงสร้างที่มีรู
(porous wood) ถ้าใช้แว่นขยายส่องดูเนื้อไม้ตามกรรมวิธีที่ว่า จะพบว่าในเนื้อไม้มีรูพรุนโดยทั่วไป
แต่ปัญหาไม้เนื้ออ่อน เนื้อแข็งตามความหมายที่ใช้โดยทั่วๆ ไป เกี่ยวกับไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น
หมายถึงไม้ที่สามารถรับแรงหรือรับน้ำหนักโดยไม่แตกหักเสียหาย ซึ่งหากจะพูดในอีกแง่หนึ่ง
ก็คือ ความแข็งแรงของไม้นั่นเอง ดังนั้น ไม้เนื้ออ่อนเนื้อแข็งที่จะกล่าวต่อไปก็หมายความตามที่ว่ากันโดยทั่วไป
คือ ความแข็งแรงของไม้ในการรับน้ำหนักในการใช้งานที่ประกอบเป็นสิ่งปลูกสร้าง
ไม้เนื้อแข็งตามาตรฐานของกรมป่าไม้
การกำหนดว่าไม้ชนิดหนึ่งชนิดใดเป็นไม้เนื้อแข็งนั้น
มีได้คำนึงถึงเฉพาะในความแข็งแรงในการรับน้ำหนักอย่างเดียว หากได้พิจารณาตามความเป็นจริงและความนิยมยอมรับนับถือโดยทั่วๆ
ไปว่า นอกจากความแข็งแรงแล้ว ต้องมีความทนทานอีกด้วย เช่นเดียวกันรุ่นคุณปู่คุณย่ายอมรับว่า
ไม้เต็ง รัง ประดู่ แดง มะค่าโมง ตะเคียนทอง เคี่ยม หลุมพอ บุนนาค และกรันเกรา
เป็นต้น ว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง ชนิดไม้ที่กล่าวเมื่อนำมาทดลองตามหลักวิชาการ
เพื่อหาค่าความแข็งแรงก็ปรากฏว่า เป็นไม้ที่มี่ความแข็งแรงสูงกว่า 1,000
กก./ซม2 ขึ้นไปทั้งสิ้น และเมื่อพิจารณาด้านความทนทานตามธรรมชาติจากการทดลองนำส่วนที่เป็นแก่นของไม้ชนิดดังกล่าวไปทดลองปักดิน
ปรากฏว่ามีความทนทานตามธรรมชาติโดยเฉลี่ยสูงกว่า 10 ปีทั้งสิ้น ยกเว้นไม้ตะเคียนทองที่มีค่าความทนทานตามธรรมชาติโดยเฉลี่ย
7.7 ปี จะเห็นว่าความยอมรับนับถือของคนสมัยก่อนที่ว่าเป็นไม่เนื้อแข็งนั้น
มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนข้อเท็จจริงนี้ คนในสมัยก่อนได้ความรู้จากประสบการณ์ที่นำไม้ไปใช้จนยอมรับกันว่าเป็นไม้ดี
ในปัจจุบันไม้ที่ยอมรับและนิยมนำไปใช้กันว่าเป็นไม้เนื้อแข็งที่ดีหาได้ค่อนข้างยาก
ส่วนมากจะพบแต่ไม้ชนิดใหม่ๆที่ยังไม่รู้จักมาก่อน จึงยังไม่ทราบว่าเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม่
บางคนที่คาดคะเนเอาว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะมีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับไม้ที่นิยมใช้กันโดยเฉพาะไม้ตะเคียนทอง
ซึ่งตามข้อมูลทางวิชาการแล้วไม่เป็นจริงเสมอไป บางคนก็นำข้อสงสัยนี้มาปรึกษาหารือกับกองวิจัยผลิตผลป่าไม้
กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีงานในหน้าที่เกี่ยวข้องกันการนำไม้ไปใช้ประโยชน์
แต่ในอดีตกองวิจัยผลิตผลป่าไม้เองก็มิได้กำหนดกฏเกณฑ์เอาไว้เป็นบรรทัดฐานว่า
ไม้ชนิดใด จัดเป็นไม้เนื้อแข็ง ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดปัญหาความยุ่งยากต่างๆ
ที่จะเกิดขึ้นต่อไปอละเพื่อให้มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่แน่ชัดเป็นอย่างเดียวกันในการกำหนดชนิดไม้ว่าเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อน
กองวิจัยผลิตผลป่าไม้จึงได้เสนอหลักเกณฑ์การกำหนดไม้เนื้ออ่อนไม้เนื้อแข็งต่อกรมป่าไม้
ซึ่งกรมป่าไม้เห็นชอบด้วย และได้มี หนังสือกรมป่าไม้ที่
กส 0702/6679 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2517 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างในส่วนราชการกรมป่าไม้
เวียนให้หน่วยราชการในสังกัดกรมป่าไม้ได้ยึดถือปฏิบัติ และกองวิจัยผลิตผลป่าไม้ก็ถือเอาหลักเกณฑ์ตามหนังสือกรมป่าไม้ดังกล่าวในการตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับความข็งแรงของไม้ว่าเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม่
หลักเกณฑ์การแบ่งไม้เนื้ออ่อนไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้
โดยที่คุณสมบัติไม้ทางด้านกลสมบัติ (mechanical properties) นั้นเกี่ยวข้องกับแรง
(stress) ที่มากระทำต่อไม้ ซึ่งมี 4 ลักษณะด้วยกัน คือ แรงบีบ (compressive
stress) เป็นแรงที่ทำให้ไม้มีขนาดเล็กกว่าเดิม แรงดึง (tensile stress)
เป็นแรงที่ทำให้ไม้มีขนาดหรือปริมาตรใหญ่กว่าเดิม แรงเชือด (shear stress)
เป็นแรงที่ทำให้ไม้แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรงดัด (bending stress) เป็นแรงที่ทำให้ไม้โค้งงอจนหัก
เป็นแรงที่รวมเอาแรง 3 ชนิดแรกเข้าด้วยกัน ความสามารถที่ไม้จะต้านทานต่อแรงที่มากระทำ
เรียกว่า ความแข็งแรง (strength) ซึ่งจะมีความแข็งแรงชนิดใดก็ขึ้นอยู่กับชนิดแรงที่มากระทำดังกล่าวแล้ว
แรงที่นับว่าสำคัญและพบว่าเกิดขึ้นเสมอในสิ่งก่อสร้าง คือแรงบีบขนานเสี้ยนและแรงดัด
รองลงมาก็คือแรงเชือด โดยเฉพาะแรงดัดซึ่งสามารถทำให้ไม้หักเสียรูปโดยสิ้นเชิงนั้น
เป็นแรงที่มีปัจจัยต่างๆ ในสิ่งก่อสร้างมาเกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมาก แรงดัดสูงสุดที่ทำให้ไม้หัก
เรียกว่า แรงประลัยหรือสัมประสิทธิ์ในการหัก (modulus of rupture) ความต้านทานของไม้ต่อแรงประลัยนี้
เรียกว่า ความแข็งแรงของไม้ในการดัด ซึ่งยอมรับและใช้กันเป็นมาตรฐานของความแข็งแรงของไม้
ในการแบ่งไม้ออกเป็นประเภทไม้เนื้ออ่อนหรือไม้เนื้อแข็ง จึงได้ถือเอาความแข็งแรงในการดัดเป็นเกณฑ์
โดยพิจารณาความทนทานตามธรรมชาติประกอบด้วยและโดยที่ไม้ตะเคียนทอง (Hoper
odorata Roxb.) เป็นไม้ที่ได้รับความนิยมและยอมรับกันอย่างกว้างขวางมานานว่า
เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีคุณภาพดีทั้งด้านความแข็งแรงและความทนทาน จึงได้เปรียบเทียบคุณภาพของไม้ที่ยังไม่รู้จักกับไม้ตะเคียนทองเสมอ
ดังนั้นการแบ่งไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็งของกรมป่าไม้ จึงนำเอาความแข็งแรงในการดัดของไม้ตะเคียนทองที่แห้งเป็นค่ามาตรฐานในการแบ่งช่วงความแข็งแรงในการดัดของไม้ชนิดต่างๆ
ว่าเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อน ปรากฏตามรายละเอียดใน หนังสือกรมป่าไม้ที่
กส 0702/6679 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2517 ดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
"ให้แบ่งไม้ออกเป็น 3 ประเภท โดยถือเอาค่าความแข็งแรงในการดัดของไม้แห้ง
(ความชื้นประมาณ 12 %)" และความทนทานตามธรรมชาติของไม้นั้น เป็นเกณฑ์ดังนี้
|
ความแข็งแรงในการดัด
(กก./ซม2)
|
ความทนทานตามธรรมชาติ
(ปี)
|
ไม้เนื้อแข็ง
|
สูงกว่า
1,000
|
สูงกว่า
6
|
ไม้เนื้อแข็งปานกลาง
|
600
- 1,000
|
2
- 6
|
ไม้เนื้ออ่อน
ต่ำกว่า
|
600
|
ต่ำกว่า
2
|
สำหรับไม้ที่มีความทนทานตามธรรมชาติต่ำ หากได้อาบน้ำยาป้องกันรักษาเนื้อไม้เสียก่อนให้มีปริมาณน้ำยาตามตารางข้างล่างนี้ก็ให้เลื่อนขึ้นไปตามค่าความแข็งแรงได้
ข้อมูลจาก
: หนังสือไม้เนื้อแข็งของประเทศไทย
เรียบเรียง : บางรักษ์ เชษฐสิงห์ นักวิชาการป่าไม้ 5
|